ก็ต้องยอมรับกันจริงๆว่าในช่วงยุคเกษตรวิถีใหม่ หรือเกษตร 4.0 แบบนี้ เริ่มมีการนิยมใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆในการเกษตรกันเพิ่มมากขึ้น และแน่นอนว่าหนึ่งในเทคโนโลยียอดนิยมก็คงจะหนีไม่พ้นโดรน (Drone) โดยเฉพาะกลุ่มชาวนา ชาวไร่ ที่เริ่มหันมาใช้งานเจ้า โดรนเพื่อการเกษตร ในวงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งประโยชน์ของโดรนเนี่ยต้องเรียกว่าแทบจะทำได้ทุกอย่างเลยดีกว่า เช่น จะใช้เป็นโดรนพ่นยา ฉีดน้ำ ประเมินผลผลิต ไปจนถึงการดูปริมาณธาตุอาหารในดินก็ทำได้เหมือนกัน และในบทความนี้ คุณจะได้ทำความรู้จักเจ้า โดรนเพื่อการเกษตร เพิ่มมากขึ้น
ประวัติความเป็นมาของโดรน
แน่นอนว่าโดรนตัวแรกของโลกไม่ได้ใช้เพื่อการเกษตรนะ แต่ต้องย้อนกลับไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือราวๆปี 1920 นู่นเลย โดยมีวิศวรกรชาวฝรั่งเศสเป็นเริ่มแนวคิดการสร้างโดรน และต่อมาในช่วงปี 1939 สหรัฐอเมริกาก็เริ่มนำแนวคิดนี้มาต่อยอดเพื่อการใช้ในสงคราม เป็นเทคโนโลยีทางการทหาร โดยหลายทศวรรษต่อมา นักศึกษาชาวจีนก็เริ่มนำแนวคิดของโดรนมาดัดแปลงเพื่อใช้ในการการถ่ายภาพนิ่ง และวิดีโอเหมือนอย่างโดรนทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งนักศึกษาชาวจีนคนนั้นก็คือ แฟรงค์ หวัง (Frank Wang Tao) หรือเจ้าของบริษัทที่ผลิตโดรนขายดีเป็นอันดับ 1 ของโลก Da-Jiang Innovations Science and Technology (DJI) นั่นเอง
การประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร
ต้องออกตัวก่อนเลยว่าเจ้าโดรนเพื่อการเกษตรเนี่ยไม่ได้เน้นไปที่การใช้งานในด้านการเกษตรเชิงเดียว การฉีดพ่นการสารเคมี ฮอร์โมนสังเคราะห์หรือยาฆ่าแมลงแค่อย่างเดียว เหมือนที่เห็นกันบ่อยๆตามหนังสือ Smart Farming เพราะความจริงแล้ว โดรนสามารถใช้งานในด้านการเกษตรอินทรีย์ได้เหมือนกัน ถ้าเราอยากใช้โดรนรดน้ำหรือผสมน้ำหมักไล่ศัตรูพืช หรือจะติด Sensor ตรวจจับ ให้โดรนแยกประเภทพืชเพื่อให้ใส่ปุ๋ย หรือรดน้ำได้เหมาะสมก็ยังทำได้ ไม่ได้เป็นแค่โดรนพ่นยาอย่างเดียว
โดรนเพื่อการเกษตรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
จากเทคโนโลยีสงครามมาสู่เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร เจ้าหุ่นยนต์ลอยฟ้าก็มาพร้อมกับความอัจฉริยะในระดับที่คนยังทำไม่ได้ (แต่คนนี่แหละเป็นคนคิด) ซึ่งส่วนประกอบสำคัญจะมีดังนี้
- ตัวเฟรม ทรงสี่เหลี่ยมคล้ายเครื่องสูบน้ำดับเพลิง มีน้ำหนักเบา สามารถพกพาได้สะดวก และยังมีแขนพับสำหรับติดตั้งใบพัด พร้อมกับมอเตอร์ไฟฟ้า และมีจำนวนใบพัดเป็นเลขคู่ตั้งแต่ 4 ใบ 6 ใบ และ 8 ใบ
- ตัวควบคุมการบิน เป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมทิศทางการบิน และการใช้งานต่างๆ
- รีโมทควบคุม พร้อมกับ Application สำหรับการดูผลต่างๆในมือถือ หรือแท็บเล็ต
- แบตเตอรี่ Lithium Polymer มีอัตราการจ่ายกระแสสูง เหมาะสำหรับการใช้งานหนักๆ
- ชุดถังและปั๊มน้ำ สามารถเลือกขนาดได้ตั้งแต่ 10 ลิตร 16 ลิตร ไปจนถึง 20 ลิตร
- ตัวกล้องตรวจจับ หรือ Sensor ที่ใช้ในการตรวจวัดและเก็บข้อมูลกายภาพต่างๆ
ใช้โดรนเพื่อประเมินปัจจัยทางกายภาพและผลผลิตยังไง?
ถ้าหากใครต้องการปัจจัยทางกายภาพหรือผลผลิตต่อพื้นที่ เจ้าโดรนเพื่อการเกษตรนี่แหละคือคำตอบ เพราะตัวโดรนสามารถประเมินจากการถ่ายภาพและทำนายผลผลิตได้ในอนาคตโดยการใช้ตัว Sensor ในการประเมิน เช่น ปริมาณธาตุอาหารในดิน ความชื้นทั้งในดินและอากาศ และค่าความเป็นกรด-ด่าง ซึ่งงานแบบนี้ ถ้าใช้คนมานั่งคำนวณคงใช้เวลาเป็นวันๆ แต่สำหรับโดรน ก็แค่สแกนพื้นที่ด้วย Sensor แล้วคำนวณผลออกมาใน Aplication ก็เป็นอันเสร็จ จะง่ายเกินไปแล้ว!
ส่วนเรื่องของการประเมินผลผลิตก็ทำได้ง่ายดายสุดๆ เพราะสามารถใช้ Near-infrared sensor (NIR) สแกนพื้นที่และประเมินผลผลิตต่อไร่ โดยจะประเมินมวลชีวภาพ (Biomass) ของพืชและจะคำนวณปริมาณธาตุอาหารที่พืชต้องการได้เลย โดยสามารถใช้เทคนิคเดียวกันนี้ในการประเมินเนื้อไม้และวงปีได้อีกด้วย นับว่าเจ้าโดรนเพื่อการเกษตรเนี่ย สามารถใช้งานได้ในหลากหลายสถานการณ์ แตกต่างจุดประสงค์กันออกไป นับว่าเป็นเทคโนโลยีสำหรับเกษตรยุคใหม่อย่างแท้จริงเลยทีเดียว
บอกเลยว่าโดรนหรือเจ้าอากาศยานไร้คนขับนี้ สามารถตอบโจทย์การเกษตรยุค 4.0 ได้อย่างดี ทั้งราคาที่ถูกลงกว่าเมื่อก่อนมากๆ แถมยังมีแอปพลิเคชัน และการใช้งานทีแสนจะ Simple สำหรับใครที่กังวลว่าจะใช้งานไม่เป็น พูดได้เต็มปากเลยว่า คุณจะเป็นเกษตรกรรายย่อย หรือรายใหญ่ จะใช้ในเกษตรแปลงใหญ่ หรือเล็ก การใช้งานโดรนเพื่อการเกษตรก็นับว่าเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามไปเลยจริงๆ และนี่อาจจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น การทำความรู้จัก เรียนรู้ และคุ้นเคยกับเทคโนโลยีต่างๆ หรือวิถีใหม่ๆ ในอนาคต ก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญสุดๆในยุคแห่งเทคโนโลยีแบบนี้